น้ำครามใช้ย้อมผ้า

  
รายละเอียด
ชาวบ้านปลูกต้นครามตามไร่นาของตนเพื่อนำต้นครามมาทำเป็นเนื้อครามและนำเนื้อ ครามที่ได้มาก่อเป็นหม้อครามใช้เป็นสีย้อมผ้าซึ่งเป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน
กระบวนการผลิตคราม / ย้อมคราม
ขั้นตอนที่ ๑ การปลูกคราม
๑.๑ ฤดูกาลปลูกคราม ฤดูที่เหมาะสมในการปลูกครามควรเป็นต้นฤดูฝน คือ เดือนพฤษภาคม-มิถุนายน
๑.๒ การเตรียมดิน ควรมีการไถดะ และไถแปร เพื่อเป็นการกำจัดวัชพืชและทำให้ดินร่วนซุย
๑.๓ วิธีการปลูก-วิธีหว้าน ใช้เมล็ดพันธุ์คราม ประมาณ ๑-๒กิโลกรัม ต่อไร่
-วิธีโรยเป็นแถว ใช้เมล็ดพันธุ์คราม ประมาณ ๑- ๑ ๑/๒ กิโลกรัมต่อไร่
ขั้นตอนที่ ๒ การเก็บเกี่ยวคราม
ควรเก็บเกี่ยวต้นครามเมื่อมีอายุ ๓ เดือน โดยการตัดลำต้นให้เหลือแต่ตอไว้ประมาณ ๓๐ เซนติเมตร เพื่อให้แตกกิ่งใหม่ ค้นครามจะเก็บเกี่ยวได้ ๒ ครั้งต่อปี ในปีต่อไปพอถึงช่วงฤดูฝนต้นเดิมก็จะแตกใบและเจริญเติบโตต่อไป
ขั้นตอนที่ ๓ การแช่คราม
- ตัดต้นครามเหนือพื้นดินประมาณ ๓๐ เซนติเมตร แล้วทำเป็นมัด ๆ มัดละขนาด ๑ กำมือ
- นำมัดครามจำนวนประมาณ ๒๔ กิโลกรัม มาแช่น้ำสะอาดในโอ่งมังกร โดยใช้น้ำประมาณ๖๐ ลิตร
- แช่น้ำประมาณ ๒-๓ คืน ถ้าต้องการให้ได้เนื้อคราม จำนวนมาก ๆ ควรนำมัดครามมัดใหม่มาแช่น้ำซ้ำอีกเอากากต้นครามออก เหลือไว้เฉพาะคราม
ขั้นตอนที่ ๔ การทำเนื้อคราม
- เก็บมัดครามที่แช่น้ำได้ ๒-๓ วันออกจากโอ่งมังกร
- นำปูนขาว(ปูนกินหมาก) ประมาณ ๑ กิโลกรัม ใส่ลงในน้ำครามที่อยู่ในโอ่งมังกร หรือหม้อนิล โดยให้ใส่ ปูนขาวลงที่ละน้อย
- ใช้กวักกระแทกให้เกิดฟองน้ำ จนกลายเป็นฟองน้ำสีครามซึ่งถือว่าใช้ได้แล้ว
- ปล่อยทิ้งไว้ให้เนื้อครามตกตะกอน
- รินน้ำปูนใส่ออกจากโอ่งมังกร ให้เหลือไว้แต่เนื้อคราม
- ทำการกรองเนื้อคราม โดยใช้ผ้าวางพาดปากตะกร้า แล้วเทเนื้อครามออกจากโอ่งมังกรใส่ลงในผ้าที่พาดไว้ บนปากตะกร้า เพื่อให้น้ำปูนใสไหลออกให้หมด
- นำเนื้อครามที่กรองแล้วไปเก็บไว้ในตุ่ม หรือถังพลาสติก และควรใส่น้ำปูนใส หรือน้ำโดยหล่อเลี้ยงไว้
- สามารถเก็บเนื้อครามไว้ใช้ได้ ๒-๓ ปีเทน้ำออก ตะกอนที่เหลือคือเนื้อคราม กรองเนื้อครามด้วยผ้า ๒ คืน จะได้ก้อนครามเก็บไว้ใช้ย้อมผ้า
ขั้นตอนที่ ๕ การเตรียมน้ำด่าง
- นำกาบกล้วยแห้ง หรือต้นมะละกอแห้ง หรือเปลือกนุ่นแห้ง หรือเปลือกมะขามแห้งมาเผาเพื่อเอาถ่าน - ขี้เถ้า
- ใส่ถ่าน - ขี้เถ้าประมาณ ๒-๓ กิโลกรัม ลงในถังน้ำที่เจาะกันถังเป็นรูเล็ก ๆ ประมาณ ๕-๖ รู แล้ววางไว้บนภาชนะที่สามารถเก็บน้ำได้ จากนั้นให้เติมน้ำประมาณ ๒ ลิตร น้ำจะไหลซึมออกจากรูลงในภาชนะที่
รองรับไว้ น้ำที่ได้นี้เรียกว่า น้ำด่าง
ขั้นตอนที่ ๖การก่อหม้อคราม
-นำน้ำด่างประมาณ ๑-๒ ลิตร มาผสมกับเนื้อครามประมาณ ๑-๒ ขีด และผสมกับปูนขาว ๑ ช้อนกาแฟ
- ควรเติมน้ำด่าง ๔-๕ วัน ๆ ละ ๑-๒ ลิตร ช่วงเวลาที่เหมาะในการเติมน้ำด่างควรเป็นช่วงเย็น
- ถ้าเกิดหม้อคราม หรือหม้อขึ้น เมื่อใช้มือสัมผัสจะเกิดเป็นฟอง หรือใช้ผ้าฝ้ายจุ่มผ้าจะเป็นสีเหลือง ต่อมาจะกลายเป็นสีคราม หรือนิล ซึ่งแสดงว่าใช้ได้แล้ว
ขั้นตอนที่ ๗ การย้อมคราม
- นำหัวหมี่ที่มัดแล้ว ไปแช่น้ำให้เปียกแล้วบิดน้ำออกให้พอหมาด ๆ จากนั้นเอาลงย้อมในหม้อครามโดยใช้มือขยำให้น้ำครามกินเนื้อหัวหมี่จนทั่ว ควรย้อมเช้า เย็น ไปจนกว่าหัวหมี่จะสีสวย (ประมาณ ๕-๖ ครั้ง)
- เสร็จแล้วนำไปตากแดดให้แห้ง
- นำหัวหมี่ไปล้างให้สะอาดจนน้ำไม่มีสี แล้วตากแดดให้แห้งต่อจากนั้นจะเป็นขั้นตอนการแก้หมี่ ปั่นหลอด และทอผ้า จนสำเร็จเป็นผืน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น