แหล่งปลูกคราม

แม่บ้านงานเกษตร
ภาวิณีย์ เจริญยิ่ง

บ้านถ้ำเต่า เปิดตัวแหล่งปลูกคราม ขายน้ำครามใหญ่สุดในไทย
เราๆ ท่านๆ คงได้ยินได้ฟังได้สวมใส่เสื้อผ้าที่ย้อมครามกันมาบ้างแล้ว แต่เชื่อว่าน้อยคนนักที่จะรู้จักต้นครามหรือได้เห็นต้นคราม โดยเฉพาะคนในเมืองกรุง ฉะนั้นการที่ ?คุณวิชุกร กุหลาบศรี? ผู้อำนวยการสำนักงานการท่องเที่ยวจังหวัด จัดงานเปิด บ้านถ้ำเต่า ตำบลสามัคคีพัฒนา อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร เพื่อให้บรรดาสื่อมวลชนจากส่วนกลางได้เห็นขั้นตอนวิธีการทำผ้าย้อมคราม ตั้งแต่เริ่มแรก จึงทำให้พวกเราหูตาสว่างขึ้นเยอะ และได้เข้าใจแจ่มแจ้งว่าทำไมผ้าย้อมครามถึงมีราคา ก็เพราะกรรมวิธีการผลิตค่อนข้างยุ่งยากซับซ้อนและใช้ภูมิปัญญากว่าจะเสร็จ สิ้น จนเราได้ใช้ผ้าย้อมครามกัน

คุณสมคิด พรมจักร ประธานกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านถ้ำเต่า อดีตเคยเป็นผู้ใหญ่บ้านที่ได้รับรางวัลดีเด่น เกริ่นความเป็นมาของบ้านนี้ให้ฟังว่า ชาวบ้านที่นี่ล้วนอพยพมาจากฝั่งลาว และตอนนี้ก็ยังไปหามาหาสู่กับทางบ้านญาติพี่น้องในฝั่งลาว นอกจากนี้ ยังยึดขนบธรรมเนียมประเพณีและนับถือผีอยู่ ดังนั้น เมื่อจะทำอะไรมักจะมีการไหว้ผียกครูกัน ไม่เว้นแม้แต่การทำการย้อมคราม ซึ่งเป็นมรดกตกทอดกันมาแต่บรรพบุรุษ

กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านถ้ำเต่า ปัจจุบันมีสมาชิก 327 คน ทั้งหญิงและชายจะช่วยกันทำผ้าย้อมคราม ซึ่งหมู่บ้านนี้มีจุดเด่นตรงที่ปลูกต้นครามเอง ตีครามเอง แล้วยังขายน้ำครามให้กับหลายจังหวัดในภาคเหนือที่ทำเสื้อม่อฮ่อม แถมทอผ้าฝ้ายเองอีกด้วย ทำให้ขายผ้าฝ้ายย้อมครามได้ในราคากันเอง

พร้อม กันนี้ได้รับย้อมไหมให้กับทางจังหวัดสุรินทร์และอีกหลายจังหวัดในอีสาน นอกเหนือจากที่ย้อมผ้าฝ้ายส่งขายทั้งในและต่างประเทศ โดยหมู่บ้านดังกล่าวเป็นเครือข่ายสายใยรัก รับย้อมผ้าให้กับศูนย์ศิลปาชีพในภาคอีสาน และทำผ้าฝ้ายย้อมครามส่งให้ในวังด้วย

ทั้งนี้การผลิตผ้าฝ้ายย้อมคราม ของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านถ้ำเต่าเป็นที่ยอมรับกันว่ามีคุณภาพ และได้รับการคัดสรรเป็นสินค้าระดับ 5 ดาวของโอท็อปในเมืองนี้

คุณสม คิดเล่าถึงวิธีการปลูกต้นครามว่า พื้นที่ของหมู่บ้านดอยเต่านั้นเป็นที่ลุ่ม ในปีหนึ่งๆ จะมีน้ำท่วมขังอยู่ 3-4 เดือน สมัยก่อนเมล็ดพันธุ์ครามได้มาจากประเทศลาว ที่ปู่ ย่า ตา ยาย นำมาปลูกไว้ใช้กันเอง เนื่องจากแต่ก่อน ผ้าครามเป็นผ้าของชาวนา ใส่เฉพาะคนจนเท่านั้น ต่อมามีการปลูกกันเป็นอาชีพ สมาชิกของกลุ่มทั้ง 300 กว่าคน จะปลูกครามกันทุกบ้าน รวมแล้วกว่า 300 ไร่

ต้นครามนั้นเป็น พืชล้มลุกตระกูลถั่วขนาดเล็กทรงพุ่ม ต้นสูงประมาณ 1 เมตร มักเกิดในที่ชื้น สภาพดินร่วนปนทราย ครามบ้านจะให้เนื้อครามมากกว่าครามป่า

ครามบ้าน มี 2 ชนิด คือ ครามตรงและครามงอ นิยมปลูกโดยการว่านเมล็ดไว้ในช่วงเดือนเมษายน ต้นครามจะใช้เวลาเจริญเติบโตในช่วงฤดูฝน ประมาณ 4-5 เดือน ส่วนยอดจะผลิดอกออกใบสีเขียวเข้ม หากน้ำค้างที่เกาะใต้ใบครามมีสีอมน้ำเงินจึงสามารถตัดต้นครามได้

สำหรับ ชาวบ้านถ้ำเต่าจะปลูกต้นครามกัน 2 ช่วง ช่วงแรก เป็นช่วงที่ฝนจะลงมา ประมาณเดือนเมษายน นับไปอีก 3 เดือน ช่วงปลายเดือนกรกฎาคมก็สามารถนำครามนั้นมาตีครามได้แล้ว การปลูกอีกช่วงหนึ่งคือช่วงปลายฝนต้นหนาว

การตัดต้นครามหลัง 3 เดือนนั้น คุณสมคิดบอก ต้องมีเทคนิคการดูตามภูมิปัญญาพื้นบ้าน โดยให้สังเกตใต้ใบครามจะต้องมีน้ำค้างเกาะ แสดงว่าแก่เต็มที่แล้ว การปลูกก็ไม่ยากเย็นอะไร เมื่อลงเมล็ดพันธุ์แล้วก็ใช้แกลบกับปุ๋ยชีวภาพ ขี้วัว ขี้ควาย ห้ามใส่ปุ๋ยเคมีเด็ดขาด ถ้าใส่ลงไปจะทำให้ครามนั้นไม่เกิดสี

คุณ สมคิดย้ำอีกว่า คนตัดต้นครามจะต้องตื่นแต่ตี 5 ไปเกี่ยวเอาต้นครามมาแช่ในน้ำธรรมดาก่อน ประมาณสัก 24 ชั่วโมง เสร็จแล้วต้องตีครามแต่เช้า ในโอ่งๆ หนึ่งใช้ต้นครามประมาณ 20 กิโลกรัม เมื่อตีแล้วจะได้น้ำคราม 3 กิโลกรัม โดยใช้เฉพาะส่วนลำต้น กิ่งและใบเท่านั้น

เมื่อแช่เสร็จแล้วก็นำกากต้นครามออก ไปทำปุ๋ย เป็นปุ๋ยข้าวในนา เพื่อกำจัดหอยเชอรี่ กับปู

ช่วง ที่กำลังตีครามอยู่นั้น จะมีกลิ่นเหม็น แต่ถ้าใส่ปูนลงไปแล้วไม่มีกลิ่น ทั้งนี้การใส่ปูนขาวกับปูนแดงจะให้ผลแตกต่างกัน ถ้าใส่ปูนขาว คืองานที่ต้องส่งออกต่างประเทศ ถ้าปูนแดงจะส่งขายในประเทศ

ผลการใส่ ปูนขาว จะทำให้ผ้าที่ย้อมออกมาเป็นสีฟ้า สามารถส่งออกนอกได้ เพราะลูกค้าต่างประเทศไม่ชอบสีมืด แต่ถ้าใส่ปูนแดง จะเป็นสีน้ำเงินเข้ม คนไทยชอบ

ในการตีครามที่ใช้เวลาไม่เกิน 30 นาทีนั้น ขั้นตอนนี้สำคัญที่สุด ที่ต้องใช้เทคนิคก็คือ การยกไม้ตี อย่างที่คุณสมคิดแจงว่า ?สังเกตไหมว่าการยกไม้ให้มันหมุนยังไง สมมุติว่าโอ่งแค่นี้ คุณยกไม้ต่ำก็ได้แค่นั้น ถ้ายกสูงเกินไป อากาศก็ผ่านมากเกิน มันต้องพอดี ต้องเสมอมือ นี่คือหัวใจจริงๆ?

พอ เสร็จขั้นตอนการตีก็ต้องรอให้เนื้อครามนอนก้น แล้วถึงเอาน้ำเททิ้ง โดยน้ำตรงนี้ไปรดพวกผัก ผลไม้ได้ เพราะสามารถกำจัดแมลง ชาวบ้านจะไม่ทิ้ง จากนั้นเข้าสู่ขั้นตอนที่เรียกกันว่าเอาน้องนอนอู่ หมายถึง เอาครามนอนอู่ โดยเนื้อครามที่ตีเสร็จแล้วสามารถเก็บไว้ในปี๊บ มีอายุประมาณ 2 ปี ซึ่งต้องเก็บไว้ให้ดี ไม่ให้อากาศเข้า

สำหรับในกลุ่มนั้น จะคิดราคาน้ำคราม กิโลหนึ่ง 100 บาท แต่ถ้าไปส่งที่จังหวัดแพร่ สุรินทร์ ขอนแก่น หรือชัยภูมิ ต้องบวกค่าขนส่งอีกตามเส้นทางใกล้-ไกล

ปีหนึ่งๆ บ้านถ้ำเต่าสามารถผลิตน้ำครามได้ 50 ตัน แต่ถือว่ายังไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด

ดัง นั้น ทางกลุ่มวางแผนไว้ว่า หลังจากปลายฝนต้นหนาว เราจะปลูกครามช่วงแล้ง เป็นการทดลอง แม้จะได้ผลดีไม่ดีอย่างไรก็ตาม โดยจะร่วมกับสถาบันการศึกษาต่างๆ มาช่วยกัน

คุณสมคิดพูดถึงจุดเด่นของน้ำครามบ้านถ้ำเต่าว่า

1. ต้องเช็คคุณภาพน้ำครามที่ออกไป เพราะเราการันตีให้ลูกค้า ถ้าสินค้าไม่ดีสามารถส่งคืน มาเปลี่ยนเราได้

2. น้ำครามที่นี่จะไม่มีเคมี เราใช้แบรนด์ของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านถ้ำเต่า ถ้าออกไปไม่ดีก็กลัวเสียชื่อเสียงของเราเหมือนกัน

วันนี้ บ้านถ้ำเต่าพร้อมที่จะเปิดตัวให้ใครต่อใครได้รู้ว่าบ้านนี้มีดีอะไรบ้าง ใครอยากจะมาเรียนรู้การปลูกต้นคราม การตีคราม การทอผ้าฝ้าย การย้อมผ้าคราม หรืออยากจะทำธุรกิจซื้อขายผ้าฝ้ายย้อมครามที่แปรรูปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นผ้าพันคอ กระเป๋า หมอน ผ้าห่ม ฯลฯ ติดต่อคุณสมคิดได้ที่ โทร. (086) 241-2544, (083) 339-7876

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น