การเตรียมเนื้อคราม

กว่า 2000 ปีที่ผ่านมา คนเริ่มรู้จักการทำสีครามจากธรรมชาติโดยนำพืช ได้แก่ คราม เบือก และฮ่อม มาใช้ ซึ่งพืชสกุลที่ให้ปริมาณครามมาก และคนไทยโบราณนิยมนำมาใช้ทำสีครามมากที่สุด คือ ครามที่อยู่ในตระกูล "Indigofera" พบได้ทั่วโลกในภูมิอากาศเขตร้อนไปจนถึงเขตอบอุ่น ส่วนต้นฮ่อมนั้นแท้ที่จริงเป็นไม้คนละตระกูลกับต้นคราม โดยสิ้นเชิง เพราะต้นฮ่อมจัดเป็นพืชในตระกูล "Acanthaceae" ซึ่งมีพืชร่วมตระกูล เช่น ฟ้าทะลายโจร ทองพันชั่ง พญายอ เป็นต้น และจะเติบโตได้ดีในที่ที่มีแสงรำไรและมีความชื้นสูง
dye_06


          ในอดีตจนถึงปัจจุบันชาวบ้านทุก ท้องถิ่นจะทำหัตถกรรมใช้เองในครัวเรือน จึงเกิดภูมิปัญญาท้องถิ่นขึ้นหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือ การ ย้อมผ้าสีคราม ซึ่งมีตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมสีคราม จนถึงการก่อหม้อนิลหรือหม้อย้อมคราม มีความเชื่อว่า ครามมีผีสิง ดังนั้นผู้ที่จะทำหม้อนิลจะต้องให้ความรักและดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดี

การเตรียมเนื้อคราม
          ผู้ทำครามควรจะเก็บใบครามทั้งกิ่งในตอนเช้า ขณะที่ใบยังสด จากนั้นนำมาม้วนมัดเป็นฟ่อนเรียงลงในภาชนะจนเกือบเต็มแล้วจึงเติม น้ำลงไปพอท่วม ทับด้วยวัสดุหนัก แช่ทิ้งไว้ประมาณ 10 ชั่วโมง จึงกลับใบครามข้างล่างขึ้นทับข้างบน แช่อีก 8 ชั่วโมง
          หลังจากแช่ใบครามเป็นเวลา 18 ชั่วโมงแล้ว ให้จัดการแยกกากใบครามออก จะได้น้ำสีเหลืองแกมเขียว มีฟองสีขาว เติมปูนขาวประมาณ 10 กรัม/น้ำคราม 1 ลิตร หรือเติมทีละน้อยพร้อมสังเกตสีและฟอง จนกระทั่งฟองเป็นสีน้ำเงินเข้ม จึงหยุดเติม กวนน้ำครามจนสังเกตเห็นสีน้ำครามเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงิน จนกระทั่งฟองสีน้ำเงินยุบตัวอย่าง รวดเร็วให้หยุดกวน การกวนครามอาจใช้มือหรือไม้ไผ่สานกระแทกน้ำครามหรือปั่นในเครื่องซักผ้าก็ ได้ หลังจากนั้นพักน้ำครามไว้ 1 คืน แล้วจึงแยกของเหลวใสชั้นบนทิ้ง เก็บตะกอนครามสีน้ำเงินชั้นล่างไว้ รอการเตรียมสีครามต่อไป
          การเตรียมสีครามหรือการก่อหม้อนิลให้อยู่ในสภาพใช้ย้อมนั้น ต้องมีวัตถุดิบที่ใช้ในการก่อหม้อนิลดังต่อไปนี้ ได้อก่ เนื้อคราม น้ำขี้เถ้า และปูนขาว ผสมกันในสัดส่วนที่พอเหมาะ หากใช้เครื่องมือวัดค่าความเป็นกรดด่าง จะพบว่าน้ำย้อมเริ่มแรกจะมีความเป็นด่างสูงประมาณ 12.5-13.00 และลดลงช้าๆทุกวัน ใช้เวลาประมาณ 20 วัน น้ำย้อมจะ มีค่าความด่างประมาณ 10.00-10.50 เป็นน้ำย้อมที่มีสีครามพร้อมย้อม ดังนั้นหากเติมกรด เช่น เนื้อมะขามเปรี้ยว ผลมะเฟืองทุบ หรือน้ำส้มสายชูลงไปในน้ำย้อมหลังก่อหม้อจะทำให้ความเป็นด่างลดลงเร็ว ได้น้ำย้อมพร้อมย้อมเร็วขึ้นกว่า 20 วัน
          การก่อหม้อครามทำได้หลายวิธี ทั้งใช้น้ำคราม เนื้อครามเหลวและครามแห้ง หลังก่อหม้อครามแล้ว ให้กวนน้ำย้อมทุกวันเพื่อสังเกตสี ซึ่ง เริ่มแรกเป็นสีน้ำเงินฟองสีขาวแตกและยุบตัวเร็ว วันถัดไปของเหลวแยกชั้น ชั้นบนใสสีน้ำตาล ชั้นล่างเป็นตะกอนสีน้ำเงิน วันต่อไปชั้นบนเริ่มเขียว ตะกอนเริ่มเป็นสีเขียวแกมเหลือง ฟองเริ่มเป็นสีฟ้า หลายวันต่อมาของเหลวจะมีสีเขียวเข้มมากขึ้น ตะกอนเหลืองเข้มมากขึ้น ลักษณะของเหลวขุ่นเมื่อกวนน้ำย้อม จะเห็นน้ำย้อมสีเขียวปนเหลืองขุ่น ผิวหน้าของเหลวเกิดริ้วสีน้ำเงิน ฟองสีน้ำเงิน หลัง จากกวนแล้วพักไว้สักระยะหนึ่ง ผิวหน้าของเหลวจะเป็นสีน้ำเงิน ฟองสีน้ำเงินวาวไม่ยุบหรือแตก จะเป็นลักษณะของ น้ำย้อมพร้อมย้อม
          การเติมสารที่เร่งการเกิดสี เช่น กรดมดแดง น้ำซาวข้าวหมักเปรี้ยว ฯลฯ จะทำให้เกิดสีครามได้อย่างรวดเร็ว เรียกว่า หม้อนิลมา แต่ก็จะส่ง ผลให้สีครามหายไปอย่างรวดเร็วเช่นกัน เรียกว่า หม้อนิลหนี ดังนั้นผู้ที่จะก่อหม้อนิลจะต้องมีจิตใจที่เยือกเย็นและไม่โลภรีบเร่งในการ กระตุ้นให้เกิดสีครามเพื่อหวังผลในเชิงพาณิชย์จนเกินไป มิฉะนั้น หม้อนิลที่อุตส่าห์ลงแรงไปอาจจะไม่สัมฤทธิผลดังที่หวังไว้   ดังนั้นการย้อม สีครามธรรมชาติเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ที่คนโบราณได้กระทำและสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน ต้องใช้เวลา นานนับเดือน เป็นผ้าที่นอกจากจะมีคุณสมบัติเฉพาะตัวในเรื่องกลิ่นและสีที่เป็นเอกลักษณ์ เฉพาะผืนซึ่งไม่เหมือนกับผ้าโหลจากโรงงานแล้วยังแฝงด้วยความทุ่มเทแรงกาย แรงใจของผู้ทำ และย้อมสีคราม อีกด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น